Learn more
- Sunday Ning
- 23 มี.ค. 2559
- ยาว 1 นาที
ปึ 2011 ตอนนั้นเรายังเรียนปริญญาตรี
เราได้ไปฝึกงานที่เชียงใหม่
อาจารย์มอบโอกาสให้เรามากมาย
ทั้งดูแลเพื่อนๆชาวพม่า
ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ระบบความคิด
จากชีวิตประจำวันของพวกเขา
สิ่งที่น่าประทับใจมากคือ
ตอนที่พาเพื่อนๆไปเที่ยววัดสวนดอก
แต่พอเดินเข้าไปในบริเวณวัด
ทุกคนถอดรองเท้า แล้วหิ้ว
เราบอกพวกเขาว่า ตรงนี้ไม่ต้องถอดรองเท้า เราจะถอดเมื่อเข้าไปในโบสถ์
พวกเขากลับบอกว่า นี่เป็นธรรมเนียมของพวกเขา
เราพูดกันเรื่องศาสนา
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ศาสนายังคงเป็นเรื่องที่เข้มเเข็ง
และมีความหมายต่อทุกอย่างในชีวิตประจำวัน
ของคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขา
ตลอดจนสิ่งของที่พวกเขาพกติดตัวไปทุกหนแห่ง
ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับจิตใจ
ที่โยงใยไปถึงความศรัทธาที่มีต่อศาสนา
เราได้เรียนรู้ว่า
ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถแยกตัวเองออกจากศาสนาได้
เพียงแต่เราต่างหละหลวมที่จะปฎิบัติ หรือแสดงออก
เพราะเมื่อมีคำถามเกี่ยวกับความตาย หรือเจอเรื่องทุกข์ใจแสนสาหัส
ศาสนาก็ยังเป็นทางออกสำหรับใครหลายๆคน
อีกเรื่องคือตอนที่เราตามอาจารย์ไปเก็บข้อมูลที่ อ. กัลยาณิวัฒนา
บอกได้เลยว่าเป็นอีกการเดินทางในชีวิตที่เราประทับใจมาก
เกือบ 4 ชั่วโมงจากเชียงใหม่ กับอีกนับพันโค้ง และความสูงเสียดฟ้า
ไม่ใช่เเค่ความโหดของเส้นทาง และวิวระหว่างทางที่สวยสุดบรรยาย
แต่การได้เจอชาวเขา(ชาวปกาเกอะญอ)ที่มีระบบคิด ภาษา วัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา
มันสอนให้เราเข้าใจความหลากหลายที่อยู่บนโลกใบนี้มากขึ้น
หลังจากนั้นเราขออาจารย์ไปอยู่กับชาวเขา 1 สัปดาห์
ช่วงนั้นอากาศหนาวมาก
เราได้ไปช่วยชาวเขาเกี่ยวข้าว เก็บกาแฟ
เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งรกราก ของชาวเขาที่บ้านห้วยครก
ชาวเขาที่นั่นน่ารักมาก
และอาหารตำหรับปกาเกอะญอ ที่แม้จะเป็นเมนูง่ายๆ
เครื่องปรุงไม่เยอะ เน้นผัก
เป็นอาหารที่อร่อยล้ำ อีกที่หนึ่งบนโลกใบนี้
แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ
แต่มีระบบจัดการขยะ มีการทำธนาคารข้าว
เด็กๆในหมู่บ้านได้รับการปลูกฝังเรื่องการศึกษา
ทำให้ทุกคนพูดภาษาไทยได้
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีการปลูกฝังวัฒธรรม
และความเชื่อแบบดั้งเดิมให้กับเด็ก
เนื่องจากคนเฒ่าคนแก่ ไม่อยากให้เด็กกลายเป็นคนรุ่นใหม่แบบคนในเมือง
ที่หลงลืมรากเหง้าของตัวเอง
เราได้เรียนรู้ว่า
โลกสมัยใหม่มันสำคัญก็จริง แต่บางครั้งถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน
เลือกรับในสิ่งที่ถูกต้องเเละเหมาะสม
มันอาจจะทำให้เราหลงทางโดยไม่รู้ตัว
แต่ในขณะที่โลกแบบเก่า
แม้มันจะดูล้าหลัง และไม่สามารถตอบโจทย์ทุกอย่างในชีวิตของเราได้
แต่การเลือกเรียนรู้ และธำรงมันไว้
มันอาจจะทำให้เราเข้าใจ และตั้งคำถามต่อปัจจุบันให้น้อยลงได้
เคยมีคนถามเราว่า
จะเรียนให้สูงไปเพื่ออะไร หลายคนที่เรียนจบปริญญาโท
แต่ได้เงินเดือนเท่าปริญญาตรีมีเยอะเเยะ
สำหรับเรา..เราไม่ได้ทำเพื่อจำนวนเงินหรอก แต่เราทำในสิ่งที่เรารัก
รักในการอ่าน รักในการเขียนและเรียนรู้ ต่างหาก
จำได้ว่าอาจารย์ที่เคยให้โอกาสเราไปอยู่กับชาวเขาเคยพูดไว้ว่า..
ที่อาจารย์ต้องเรียนสูง อาจารย์ทำเพื่ออะไร เอาความรู้ไปทำไม
อาจารย์ใช้ระดับการศึกษา เพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าอาจารย์มีความรู้
เพื่อเอาไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากกว่าเรา
ชาวเขาหลายคนอยากได้สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิทำกิน
ถ้าเราไม่เอาความรู้ไปช่วย มันก็ไม่มีเหตุผลที่เข้มแข็งกว่านี้
คนที่เรียนสูงเพื่องานที่ดีมันมีเยอะ
แต่คนที่เรียนสูงเพื่อเอาความรู้ไปช่วยคนอื่น นี่คือผลผลิตที่สังคมต้องการ
ทุกสถานที่ๆไปเยือน
ทุกคนที่เราพบ
ไม่เพียงเจอ เพื่อจาก
แต่ความรู้สึกของการได้พบเจอ
มันฝังอยู่ในความทรงจำ
กลายเป็นประสบการณ์ และบทเรียน
ให้เราในเวลาต่อมา
ไม่ว่าจะชื่นชอบหรือชิงชัง
ไม่ว่าจะอยากจำหรืออยากลืม
เราเองรู้ดีว่า
ชีวิตเราในวันนี้
มีทุกสิ่งที่พานพบหลอมรวมอยู่
Kommentare